นับตั้งแต่มนุษย์ได้ถือกำเนิดขึ้น เราก็ได้ผ่านความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่ว่าจะ เป็นวิวัฒนาการในด้านต่าง ๆ รวมถึง “ศิลปะการออกแบบตกแต่งภายใน” ซึ่งเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ และนับแต่นั้นมาก็ได้เกิดเป็นวิวัฒนาการของรูปแบบด้านการออกแบบ ตกแต่งภายในที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย สะท้อนให้เห็นถึงรสนิยมและสภาพสังคมในยุคต่าง ๆ โดยในช่วง 600 ปีที่ผ่านมา เทรนด์การออกแบบตกแต่งภายในมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก วันนี้เราจะมาทำความรู้จัก 12 ไอเดียออกแบบตกแต่งภายในจาก 12 ยุคที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจะทำให้เรารู้จักสไตล์การออกแบบตกแต่งภายในมากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถใช้เป็นแนวทางในการออกแบบภายในหรือตกแต่งภายในบ้านได้อีกด้วย
- (ค.ศ. 1400 – 1600)
ยุคเรอแนซ็องส์ หรือ ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) เป็นเทรนด์การออกแบบตกแต่งภายในจากฝรั่งเศสที่แผ่ขยายไปทั่วยุโรปได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดมนุษยนิยมและเสรีภาพรูปแบบใหม่ตามแบบอย่างศิลปะชั้นสูงในสมัยกรีกและโรมัน ผสมผสานกับศิลปะที่ได้รับอิทธิพลมาจากอาหรับและเอเชีย โดยการออกแบบตกแต่งภายในในยุคนี้จะมีความใส่ใจในรายละเอียด ประณีต และวิจิตร มีลักษณะการจัดองค์ประกอบและแสดงรายละเอียดปลีกย่อยอย่างฟุ่มเฟือย เน้นไปที่รูปร่าง การแสดงความอ่อนไหว และความเป็นธรรมชาติของสิ่งนั้น ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพชีวิต สังคม ศาสนา และวัฒนธรรมในยุคนั้นอย่างชัดเจน
- บาโรก (ค.ศ. 1590 – 1725)
บาโรก (Baroque) เป็นศิลปะการออกแบบตกแต่งภายในที่ได้รับอิทธิพลมาจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก สถาปัตยกรรมในแนวนี้จะเน้นไปที่ความหรูหรา โอ่อ่า และประณีตเป็นหลัก ทุกอย่างต้องวิจิตรงดงาม อ่อนช้อย ดูอลังการ ซับซ้อน มีลวดลายประดิษฐ์มาก เน้นการสื่อถึงอารมณ์ ความรู้สึก และนาฏกรรม การประดับตกแต่งสไตล์บาโรกจะมีลักษณะฟุ้งเฟ้อเกินความพอดี โครงของเฟอร์นิเจอร์มักทำจากไม้เขตร้อน และมีการใช้วัสดุตกแต่งแปลกใหม่อื่น ๆ เช่น งาช้าง หินอ่อน เพื่อสร้างความรู้สึกของการเคลื่อนไหวและความยิ่งใหญ่ จัดได้ว่าเป็นยุคที่มีการสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อเรียกร้องความสนใจและมุ่งหวังความสะดุดตาเป็นหลัก
- โรโกโก (ค.ศ. 1700)
โรโกโก (Rococo) คือ เทรนด์การออกแบบตกแต่งภายในที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายยุคบาโรก หรือในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า “ศิลปะแบบหลุยส์ที่ 15” ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากฝรั่งเศสเช่นเดียวกัน โดยโรโกโกเป็นตัวแทนรสนิยมของคนชั้นสูง การตกแต่งภายในแบบโรโกโกจึงมีความเป็นเอกภาพ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นผนัง เครื่องเรือน หรือเครื่องประดับตกแต่งจะออกแบบอย่างประดิดประดอย ละเอียดลออ และกลมกลืนกันอย่างมีชั้นเชิง โดยเน้นไปที่ลวดลายเปลือกหอยและดอกไม้เพื่อสร้างสมดุลระหว่างจิตวิญญาณและความสง่างามอย่างประณีต สีที่ใช้ก็จะเป็นสีสว่าง ถือเป็นศิลปะที่สะท้อนความหรูหรา โอ่อ่า และวิจิตรตระการตา แสดงถึงความต้องการและรสนิยมของชนชั้นสูงไว้อย่างไม่เคยมีปรากฏในศิลปะยุคใด
- นีโอคลาสสิก (ค.ศ. 1780 – 1880)
นีโอคลาสสิก (Neoclassical) เป็นรูปแบบศิลปะที่เกิดขึ้นในยุคจอร์เจียตอนปลายที่ได้รับอิทธิพลมาจากการที่ชาวฝรั่งเศสเกิดเคลื่อนไหวต่อต้านระบบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism) ศิลปะนีโอคลาสสิกส่วนใหญ่จึงสะท้อนให้เห็นเกี่ยวกับสภาพสังคมและการปกครอง โดยเป็นศิลปะที่อยู่กึ่งกลางระหว่างศิลปะสมัยใหม่และสมัยเก่าบนหลักการออกแบบที่มีรสนิยม ประณีต และเหนือกาลเวลา ให้กลิ่นอายอารยธรรมของสถาปัตยกรรมโรมันและกรีก พบมากในยุโรปและได้รับความนิยมมากในประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังเน้นถึงความสง่างามและความสมมาตรของรูปร่าง ทรวดทรงของมนุษย์ และส่วนประกอบของภาพ รวมไปถึงความใหญ่โต แข็งแรง มั่นคง นิยมใช้สีที่กลมกลืน ให้ความสำคัญกับการจัดดุลยภาพของแสงและเงาที่งดงาม
- อาร์ต แอนด์ คราฟท์ (ค.ศ. 1860 – 1910)
อาร์ต แอนด์ คราฟท์ (Arts and Crafts) เป็นการเคลื่อนไหวทางศิลปหัตถกรรมที่มีจุดเริ่มต้นจากประเทศอังกฤษ ซึ่งในเวลานั้นเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ผู้คนเริ่มหลงใหลของใหม่ จึงเปิดโอกาสให้ศิลปินสามารถพัฒนาความคิดและฝีมือทางเชิงช่างได้อย่างอิสระและกว้างขวางจนสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่แปลกใหม่และเป็นเอกลักษณ์ของตนเองได้หลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบอาคารบ้านเรือน การตกแต่งภายใน การออกแบบเครื่องเรือน สิ่งของ เครื่องใช้ต่าง ๆ รวมทั้งการออกแบบลวดลายประดับตามแนวคิดศิลปะเบ็ดเสร็จแห่งยุค โดยจะเน้นไปที่เสน่ห์แห่งความเรียบง่าย คุณภาพของวัสดุ และการเชื่อมต่อกับธรรมชาติในโทนสีเข้ม กลุ่มเอิร์ธโทน และผิวสัมผัสที่มีเอกลักษณ์
- อาร์ตนูโว (ค.ศ. 1890 – 1920)
อาร์ตนูโว หรือ นวศิลป์ (Art Nouveau) เป็นลักษณะศิลปะ สถาปัตยกรรม และศิลปะประยุกต์ที่เกิดขึ้นเมื่อใกล้สิ้นสุดศตวรรษที่ 19 โดยมีจุดเด่น คือ การใช้รูปแบบธรรมชาติ โดยเฉพาะพืชพรรณ ดอกไม้ แมลง เปลือกหอย ใบไม้ และเถาวัลย์ มาทำเป็นลวดลายเส้นโค้งที่อ่อนช้อย เครื่องเรือน ลวดลายผนัง และอุปกรณ์ตกแต่งสไตล์อาร์ตนูโวมักมีความหรูหราและทันสมัย รวมไปถึงมีการสีใช้จากธรรมชาติ เช่น สีจากฤดูกาล เช่น สีออกส้มและน้ำตาลของฤดูใบไม้ร่วง สีจากพืชพรรณต่าง ๆ เช่น สีเขียวเข้ม สีเขียวตอง และสีของดอกไม้ เช่น สีขาวนวลดอกมะลิ สีม่วงดอกไอริส สีแดงดอกป็อปปี เป็นต้น ทำให้เป็นสไตลที่ดูค่อนข้าง ‘เยอะ’ แต่ก็นับเป็นตัวแทนรสนิยมของชาวตะวันตกและเป็นรากฐานของศิลปะอีกหลาย ๆ สไตล์ในปัจจุบัน
- อาร์ตเดโค (ค.ศ. 1920 – 1960)
อาร์ตเดโค หรือ อลังการศิลป์ (Art Deco) เป็นสไตล์การออกแบบที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาแห่งความยากลำบากและความหม่นมัวของสงคราม รวมถึงเศรษฐกิจอันตกต่ำ จึงเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะหลากหลายรูปแบบ ซึ่งหลุดพ้นจากความเป็นคลาสสิกและเข้าสู่ยุคเริ่มต้นของนวยุคนิยม สะท้อนให้เห็นความหรูหรา ความมีประโยชน์ทางการใช้สอย และความเป็นสมัยใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปทรงเรขาคณิตและการเคลื่อนไหวของยุคเครื่องจักร วัสดุ และสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมโบราณ และการเกิดใหม่ตามธรรมชาติ เน้นการสร้างความรู้สึกหรูหราโดยใช้วัสดุหลากหลาย ทั้งไม้เคลือบเงา กระจกสี สแตนเลส อลูมิเนียม อัญมณี และหนัง สีสันที่เด่นชัด ทำให้เกิดพลังและความมั่นใจได้รับความนิยมมากในโซนยุโรปอย่างฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน อิตาลี เยอรมนี และอเมริกา
- นวยุคนิยม (ค.ศ. 1880 – 1940)
นวยุคนิยม (Modernism) เป็นการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม ซึ่งมีรากฐานมาจากการเปลี่ยนแปลงในสังคมตะวันตก เน้นไปที่ความทันสมัย ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และศิลปะอย่างสุดขั้ว ควบคู่ไปกับความสะดวกสบาย ใช้งานได้จริง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการตกแต่งภายในสไตล์โมเดิร์นนิสต์กับอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 20 อย่างใกล้ชิด ภายใต้แนวคิดที่ว่าการออกแบบตกแต่งภายในควรยึดวัตถุประสงค์ของอาคารนั้น ๆ ตามหลักคติคำนึงประโยชน์ (Functionalism) เน้นความเรียบง่ายตามคติจุลนิยม (Minimalism) และการปราศจากการตกแต่ง ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและทางการเมือง กล่าวคือเป็น ช่วงเวลาแห่งความเจริญทางวัตถุ ความมั่นคงทางสังคม และความรู้เข้าใจตนเอง
- เบาเฮาส์ (ค.ศ. 1919 – 1934)
เบาเฮาส์ (Bauhaus) คือ ชื่อของโรงเรียนศิลปะและสถาปัตยกรรมที่สอนเรื่องศิลปะและวิจิตรศิลป์ในประเทศเยอรมันที่โด่งดังมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แม้จะเปิดทำการได้เพียง 14 ปี แต่เบาเฮ้าส์ก็ได้สร้างแนวทางการออกแบบ ตกแต่งภายในที่เผยแพร่ออกไปในหลายประเทศจนเป็นรากฐานให้กับสถาปัตยกรรมและการออกแบบสมัยใหม่ โดยสไตล์เบาเฮ้าส์นี้ได้รับอิทธิพลส่วนใหญ่มาจากสไตล์นวยุคนิยม แต่จะเน้นที่จิตวิญญาณของมนุษย์และทักษะของช่างฝีมือมากขึ้น เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะเรียบง่าย ชัดเจน ตรงไปตรงมา และมักจะใช้สีพื้นฐานในการออกแบบชิ้นงาน เช่น สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน และใช้รูปทรงเรขาคณิตที่ต่าง ๆ มักไม่มีการตกแต่งเพิ่มเติมใด ๆ ลดทอนองค์ประกอบต่าง ๆ ออกเหลือแต่ส่วนสำคัญของงาน อาทิ เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ก็จะโชว์จุดเด่นความเป็นลายไม้ที่สวยงามโดยไม่มีสิ่งใดมาปกปิดหรือห่อหุ้ม
- มิด-เซนจูรี่ โมเดิร์น (ค.ศ. 1930 ถึงปัจจุบัน)
มิด-เซนจูรี่ โมเดิร์น (Mid-Century Modern) เป็นศิลปะที่ผสมผสานความโมเดิร์นจากหลากหลายแขนง เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 โดยนิยมการเล่นกับรูปทรงเลขาคณิตและลายเส้นต่าง ๆ คล้ายกับงานสไตล์เบาเฮ้าส์ งานออกแบบสไตล์มิด-เซนจูรี่ โมเดิร์นจะเน้นไปที่ความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ชัดเจน แต่นุ่มนวลกว่านวยุคนิยม โดยยังคงนิยมรูปทรงเลขาคณิตที่แปลกตาและทันสมัย ลายเส้นที่เรียบง่าย การใช้วัสดุที่แปลกใหม่ และพื้นผิวที่หลากหลาย ซึ่งสื่อถึงการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยได้เป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากความสวยงามแล้ว ยังให้ความสำคัญกับประโยชน์ใช้สอย โดยผสมผสานองค์ประกอบทางธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่และหวายเข้าด้วยกันอีกด้วย
- โพสต์ โมเดิร์น (ค.ศ. 1978 ถึงปัจจุบัน)
โพสต์ โมเดิร์น (Postmodern) คือ แนวคิดหลังยุคนวนิยมในช่วงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่สิ่งต่าง ๆ ถูกกำหนดอยู่ในหลักเกณฑ์และทฤษฎี ศิลปะในยุคนี้จึงสะท้อนให้เห็นมุมมองที่ต่างออกไปจากมุมมองทางความคิดแบบเดิม เน้นเสรีภาพและอิสระของบุคคล โดยเชื่อว่าทุกอย่างนั้นมีความแตกต่างหลากหลาย ไม่มีศูนย์กลางความเป็นหนึ่งเดียว ไม่เชื่อเรื่องความเป็นสากล เนื่องจากแต่ละคนแต่ละวัฒนธรรมนั้นมีเหตุผลของตนเอง ไม่ควรจะให้ใครมาตัดสินว่าสิ่งใดดีที่สุด แล้วคิดว่าสิ่งนั้นต้องดีสำหรับคนอื่นด้วย สไตล์การออกแบบภายในและตกแต่งภายในในยุคนี้จึงสะท้อนถึงความแข็งกร้าว ตรงไปตรงมา และสัจจะแห่งเนื้อแท้อย่างชัดเจน การใช้สีสันและรูปทรงในสไตล์นี้จึงดูไร้กฎเกณฑ์ เหนือจริง ไม่สนใจหลักการใดเป็นพิเศษ
- ร่วมสมัย (ค.ศ. 1980 – ปัจจุบัน)
คอนเทมโพรารี หรือ ร่วมสมัย (Contemporary) เป็นแนวคิดการออกแบบตกแต่งภายในในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ที่ได้รับอิทธิพลจากความเป็นโลกาภิวัฒน์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีอย่างก้าวไกล เป็นการรวมตัวกันของทั้งวัสดุ วิธีการ แนวความคิด และสไตล์ที่หลากหลาย ทำให้เกิดการท้าทายต่อขอบเขตของงานศิลปะรูปแบบเดิม ๆ โดยจะเห็นว่าเป็นการผสมผสานจุดเด่นของลายเส้นของศิลปะแนวนวยุคนิยมและความรู้สึกโปร่งสบายกลางแจ้งของบ้านสมัยใหม่ในยุคกลาง การเลือกใช้โทนสีภายในบ้านสไตล์คอนเทมโพรารีจะมีความเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติมากที่สุด อย่างโทนสีเทา ครีม ขาว เอิร์ธโทน หรือน้ำตาลอ่อน เรียกว่าผสานทั้งเสน่ห์แห่งความเก่าและใหม่เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว
จะเห็นได้ว่าการออกแบบตกแต่งภายในในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้นมีเอกลักษณ์และความโดดเด่นที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งในปัจจุบัน สไตล์เหล่านี้ก็ยังคงได้รับการนำมาประยุกต์กับการออกแบบตกแต่งภายในอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าช่วยให้การออกแบบตกแต่งภายในทั้งภายในบ้าน อาคาร และสถานที่ดูสวยงามโดดเด่นได้อย่างมากเลยทีเดียว